เลขา เกลี้ยงเกลา
กลุ่มผู้หญิงภาคประชาสังคม(civic women) ร่วมกับ PAOW คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จัดเวทียื่นข้อเสนอพร้อมนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและข้อมูล 7 ด้านเนื่องในวันสตรีสากล เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตัวแทนองค์กรผู้หญิงภาคประชาสังคม 25 องค์กร ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนพรรคการเมืองผู้หญิง 8 พรรคเข้าร่วมรับฟังข้อเสนอวาระผู้หญิงชายแดนใต้สู่พรรคการเมือง ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี
ทั้งนี้ผู้แทนกลุ่มผู้หญิงได้สรุปยื่นข้อเสนอนำเสนอสถานการณ์ปัญหาและข้อมูล 7 ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพและกลไก, ความรุนแรงจากสถานการณ์พื้นที่สาธารณะปลอดภัยและการพูดคุยสันติสุข, ความรุนแรงต่อเด็กและสิทธิเด็ก, ความรุนแรงในครอบครัว, การศึกษาและส่งเสริมสถาบันครอบครัว, เศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานของทรัพยากร และพหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมด้วยความเข้าใจ
ด้านที่หนึ่ง การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพและกลไก คือ
1.ให้มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
2.จัดสรรงบประมาณ/ทรัพยากรที่พอเพียงให้ “ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จะจัดตั้งขึ้น เสนอให้จัดตั้ง “กองทุนประชาสังคม” ที่มีกฎหมายรองรับ
3.จัดสวัสดิการที่จำเป็นและพัฒนาศักยภาพแก่ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงและผู้หญิงภาคประชาสังคม
4.เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในกลไกการตัดสินใจด้านการสร้างสันติภาพและแก้ไขชายแดนใต้ในทุกระดับ ไม่ให้น้อยกว่าร้อยละ 30
5.ให้ทักพรรคการเมืองช่วยผลักดัน ห้การแก้ไขชายแดนภาคใต้เป็น “วาระแห่งชาติ” และให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงเป็นนโยบายของพรรคและให้การสร้างสันติภาพเป็นพันธกิจ
ด้านที่สอง ความรุนแรงจากสถานการณ์ พื้นที่สาธารณะปลอดภัยและการพูดคุยสันติภาพ ข้อเสนอ
1.ให้ยึดการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติและพันธกิจของทุพรรคการเมือง
2.ให้พรรคการเมืองเป็นกลไกในการสร้างความเข้าใจและสื่อสารให้สังคมเข้าใจปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้
3.ให้พรรคการเมืองสนับสนุนการพูดคุยของคู่ขัดแย้งด้วยสันติวิธี
4.ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการพูดคุยและกำหนดประเด็นในโต๊ะพูดคุย
5.สนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับฟังความเห็นผู้หญิงในชายแดนใต้ไปยังโต๊ะพูดคุย
6.ให้พรรคการเมืองรับและสนับสนุนผูหญิงและประชาชน ให้ผูหญิงเข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
ด้านที่สาม ความรุนแรงต่อเด็กและสิทธิเด็ก มีดังนี้
1.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและตระหนักรู้ในสิทธิเด็ก ให้มีการรณรงค์สร้างความเข้าใจอย่างกว้างขวาง 2. การบังคับใช้กฏหมายพิเศษในชายแดนใต้ต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็ก
3.ขจัดนโยบาย/ระเบียบที่ทำให้เกิดการเลือกปฎิบัติต่อเด็กทุกชาติพันธุ์/วัฒนธรรม
4.พิจารณาทบทวน/แก้ไขกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก
ด้านที่สี่ ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ข้อเสนอ
1.ให้ผู้หญิงมีกลไกในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ปรับปรุงแก้ไขพรบ. ศาสนาให้ผู้หญิงได้เข้าเป็นคณะกรรมการฯ
2.ขยายศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว นำร่องที่นราธิวาสและขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ
3.ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงทุกสถานีตำรวจเพื่อให้ผู้หญิงเข้าใจผู้หญิงและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
4.จัดตั้งกองทุนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
ด้านที่ห้า การศึกษาและการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ข้อเสนอ การสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง
1.ให้จัดทำนโยบายสร้างโรงเรียนพ่อแม่ ทุกครอบครัวที่มีลูกวัย 3-15\ปีต้องผ่านการอบรมทักษะชีวิตหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่ 1 ชุมชน 1 โรงเรียนพ่อแม่ มีนักจิตวิทยาที่ผ่านการอบรมดูแล
2.คืนแม่ให้ลูก ลูกต้องอยู่กับแม่
3.กำหนดนโยบายจีดสถานเลี้ยงเด็กในสถานที่ทำงาน
4.พัฒนาภาวะผู้นำแก่ผู้เป็นสามี สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ด้านการศึกษา
- ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ข้อเสนอ คือ
1.มีครูปฐมวัยในอัตรที่เหมาะสม จบการศึกษาด้านปฐมวัยโดยเฉพาะ
2.สร้างหลักสูตรปฐมวัย เน้นการสร้างทักษะการบริหารจัดการชีวิต ให้เด็กควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปถึงเป้าหมายในชีวิต
3.การแต่งกายแห่งเด็กปฐมวัย ให้สร้างทักษะพร้อมกับกิจกรรม ยกเลิกเสื้อนักเรียนสีขาว กระโปรง กางเกงตามที่รัฐกำหนด
4.ยกเลิกการแข่งขันในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ส่งเสริมความถนัดเฉพาะด้านตามความฉลาดพหุปัญญา
5.ส่งเสริมเด็กและเยาวชนรักการอ่าน สร้างพื้นที่การอ่านที่มีชีวิตในทุกชุมชน
6.บรรจุครูจิตวิทยา ครูแนะแนวในทุกโรงเรียน ป้องกันปัญหาก่อนเกิดเหตุ
7.สร้างครูมืออาชีพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู
ด้านที่หก เศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานของทรัพยากร ข้อเสนอ
1.ให้มีการปฏิรูปแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราอย่างเป็นระบบ
2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทะเลชาบฝั่งอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม
3.การจัดการน้ำของกรมชลประทาน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ
4.สนับสนุนเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยรัฐเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนงบประมาณและวิชาการ
ด้านสุดท้าย เรื่อง พหุวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ข้อเสนอ
1.ส่งเสริมการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรมในชุมชนให้มากขึ้น ทั้งในระบบการศึกษาและกิจกรรมในชุมชน
2.ฝึกอบรมความรู้ พัฒนาทัศนคติเชิงบวกให้เจ้าหน้าที่เข้าใจอัตลักษณ์ชายแดนใต้
3.เข้าใจความเป็นพหุวัฒนธรรม ผสมกลมกลืน ด้วยความเคารพและเข้าใจ
4.ให้วันสำคัญทางศาสนาเป็นวันหยุดของทุกศาสนา ข้อเสนอทั้งหมดนี้เพื่อเสนอเป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับของพรรคการเมืองที่สามารถนำไปใช้ได้ต่อไป
|
|
|
|
|